วัฒนธรรมที่เปลี่ยนถ่าย สิงห์บลู ยักษ์ใหญ่สีฟ้าแห่งลอนดอน

วัฒนธรรม คือระบบ แบบแผน ที่ยึดถือปฏิบัติกันมาอย่างช้านาน ทุกแห่งหนหากมีมนุษย์โลกครอบครองเป็นเจ้าของ ที่แห่งนั้นจะต้องมีวัฒนธรรม

แบบแผนที่ยึดต่อกับมา แม่เวลาจะผ่านมาเนิ่นนาน ก็ใช่ว่าจะดีเสมอไป บางครั้ง สิ่งเหล่านี้ก็เป็นบ่อเกิดของปัญหาใหญ่ ที่ยังหาทางแก้ไขได้ยากเช่นกัน

นับตั้งแต่ปี 2004 เมื่อ มหาเศรษฐีนักการเมืองผู้คลั่งไคล้ฟุตบอล โรมัน อับราโมวิช นำเงิน 140 ล้านปอนด์ เข้ามาเทคโอเวอร์ สโมสรฟุตบอล เชลซี ก็ผงาดขึ้นมาเป็นเบอร์ต้น ๆ ของพรีเมียร์ลีกอังกฤษ

14 ปีภายใต้การนำของ “เสี่ยหมี” ที่แฟนฟุตบอลเรียกขาน ทีมดังจากลอนดอน ประสบความสำเร็จอย่างมาก ทั้งในแง่ของความนิยม และถ้วยรางวัล 4 แชมป์พรีเมียร์ลีก  , 4 แชมป์ เอฟเอคัพ , 1 แชมป์ลีกคัพ , 2 ถาดคอมมิวนิตีชีลด์ , 1 แชมป์ ยูฟ่าแชมป์เปี้ยนส์ลีก และ 1 แชมป์ยูโรป้า ลีก ทั้งหมด 13 โทรฟี่ที่ อับราโมวิช นำมา คือสิ่งที่พลิกโฉมหน้าสโมสรอย่างแท้จริง

แต่สิ่งหนึ่งที่ก่อเกิดพร้อม ๆ กับความสำเร็จนั้นคือ วัฒนธรรมสิงห์บลู วัฒนธรรมการ “ปลดโค้ช”

ตลอด 14 ปีของ “เสี่ยหมี” เทรนเนอร์ผู้เข้ามารับงานยังถิ่นสแตมฟอร์ด บริจด์ ถูกตะเพิดพ้นเก้าอี้มาแล้วถึง 9 คนด้วยกัน ทั้ง โชเซ่ มูรินโญ่ ยอดโค้ชสเปเชียล วัน ผู้พาทีมคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีกอย่างยิ่งใหญ่ หรือ กุนซือผู้มากด้วยบารมีอย่าง คาร์โล อันเชลอตติ แม้กระทั่ง ลูกหม้อสโมสร ผู้พาทีมคว้าแชมป์บอลถ้วยใหญ่ของยุโรป ใบแรกในประวัติศาสตร์สโมสรอย่าง โรแบร์โต ดิ มัตเตโอ ก็ยังไม่เว้น โดนเฉดหัวออกจากทีมอย่างไม่ไยดี

เพราะทั้งหมดดันไปมีปัญหากับขาใหญ่ในทีม แทบทั้งสิ้น จากเสียงซุปซิบนินทาภายในและภายนอกสโมสรเอง ต่างไปในทิศทางเดียวกันว่า “เสี่ยหมี” ของพวกเขา เป็นคนอยู่เบื้องหลังการไล่โค้ช แทบทุกครั้ง และสิ่งที่ทำให้เหล่าเทรนเนอร์ต่างไม่พอใจ จนถึงขั้นโดนผลักไสออกจากสโมสรก็คือ

การโดนแทรกแซงการทำงานจากเจ้าของทีม

          คุณจะรู้สึกอย่างไร ถ้าต้องทำงานบริหารทีมฟุตบอล แต่อำนาจการตัดสินในในหลาย ๆ อย่าง คุณไม่สามารถทำได้ด้วยตนเอง เปรียบดังศิลปินที่ไม่สามารถสร้างสรรค์จินตนาการของตนเองได้เต็มทีม กลับต้องมานั่งทำงานตามความคิดของผู้อื่น

และที่ร้ายแรง จนส่งผลให้ความแตกหักเกิดขึ้นระหว่างผู้จัดการทีม และ เจ้าของทีมคือ อำนาจการตัดสินใจในการเสริมทัพนักเตะ หากเทรนเนอร์ต้องการนักเตะรายไหน พวกเขาไม่สามารถเดินเข้าไป และนำแข้งรายนั้นมาร่วมทีมได้ ถ้าเจ้าของสโมสร หรือบอร์ดบริหารรายอื่น ๆ ไม่เห็นด้วย

แต่เมื่อมองย้อนกลับไปถึงช่วงเวลา 14 ปีที่ผ่านมา ก็ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า หากไม่มีวัฒนธรรมการปลดโค้ชในวันนั้น ทีมสิงโตน้ำเงินครามแห่งนี้ อาจจะยังหยุดอยู่กับที่ก็เป็นได้