Category Archives: สาระน่ารู้

รอยจารึกที่ไม่มีวันสูญสลายของ เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน

“เวลาเกิดอะไรขึ้น ผู้คนมักจะพูดว่า ถ้า เฟอร์กูสัน ยังอยู่จะไม่มีทางทำอะไรแบบนั้น หาก เฟอร์กูสัน ยังไม่วางมือจะตัดสินใจอย่างนี้ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ทุก ๆ สิ่งจะต้องถูกนำไปเปรียบเทียบกับช่วงเวลาของ เฟอร์กูสัน” นี่คือคำกล่าวของอดีตกองหน้าของสโมสร ที่ปัจจุบันย้ายไปค้าแข้งอยู่ที่ประเทศอเมริกาในศึกเมเจอร์ ลีก อย่าง ซลาตัน อิบราฮิโมวิช

                ถามว่าสิ่งที่ ซลาตัน กล่าวมาเป็นความจริงหรือไม่ ก็ต้องเรียนตามตรงว่าเป็นความจริง เพราะเหล่าแฟนบอลจำนวนมากของสโมสรรวมถึงอดีตนักเตะระดับตำนาน ต่างมักจะยกวิธีการจัดการหรือการตัดสินใจของ เฟอร์กูสัน เป็นตัววัดความถูกต้องในการตัดสินใจทำอะไรหลาย ๆ อย่างของสโมสรในปัจจุบัน เพราะต้องไม่ลืมว่าช่วงเวลาของความสำเร็จที่ตำนานกุนซือ
อย่าง เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ได้สร้างไว้อย่างยาวนั้น ได้จารึกเกิดเป็นจิตวิญญาณของยูไนเต็ดไปแล้ว

                ทีนี้ ถ้าต้องการให้เหล่าแฟนบอล สื่อ หรือนักวิจารณ์ ก้าวข้ามเรื่องนี้ไปจะต้องทำอย่างไร

                อย่างแรกเลยคือ จะต้องมีผู้จัดการทีมที่มาสร้างความสำเร็จให้กับสโมสร และจะต้องอยู่กับสโมสรเป็นระยะเวลายาวนานพอสมควร ดังเช่นที่ เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ได้นำ ยูไนเต็ด ก้าวข้ามความสำเร็จที่ทางอดีตกุนซือระดับตำนานอย่าง เซอร์ แม็ตต์ บัสบี้ ได้เคยสร้างไว้ให้กับสโมสร

                นอกจากความสำเร็จ และช่วงเวลาที่จะอยู่กับทีมนั้น สิ่งที่ต้องทำอีกอย่างคือ ความสม่ำเสมอ

                ตลอดระยะเวลาที่ เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ได้เข้ามาคุมทีม ถ้าไม่นับช่วงแรก ๆ กับทางสโมสรที่ต้องวางรากฐานให้กับทีมในระยะยาว ยูไนเต็ด เป็นเพียงไม่กี่สโมสรที่สามารถกล่าวได้ว่า มีความสำเร็จที่สม่ำเสมอมากที่สุด โดยแทบไม่มีฤดูกาลไหนเลยที่จะไม่ประสบความสำเร็จ หรือถึงแม้ในฤดูกาลนั้นจะไม่ได้แชมป์ ก็มักจะใช้เวลาปรับแก้ไขทีมเพียงไม่นานในการกลับขึ้นมากวาดสำเร็จอยู่เสมอ

ลีกคัพ 4 สมัย เอฟเอคัพ 5 สมัย แชมป์ระดับสโมสรที่ยิ่งใหญ่ที่สุดอย่าง ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก 2 สมัย และแชมป์ลีกในประเทศ 13 สมัย คือสิ่งที่การันตีการนำพาสโมสรประสบความสำเร็จอย่างสม่ำเสมอของ เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน โดยรวมการคว้าแชมป์ไปทั้งสิ้น 24 รายการตลอดการคุมทีม 26 ปี และได้พาสโมสร แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ขึ้นมาเป็นสโมสรชั้นนำของยุโรป

จากเงื่อนไขที่ว่ามา แค่เพียงเงื่อนไขแรกที่จะต้องพาทีมพุ่งชนความสำเร็จ และอยู่กับทีมในช่วงระยะเวลาที่ยาวนานพอสมควรก็ยากแล้ว เพราะในยุคทุนนิยมแบบนี้ ต่อให้คุณพาทีมคว้าแชมป์ลีก หรือ ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีกได้ ก็ยังไม่สามารถ
การันตีเก้าอี้ผู้จัดการทีมว่าจะมั่นคงแค่ไหน อย่างที่ได้พบเห็นมาแล้วกับ เคลาดิโอ รานิเอรี่ กุนซือผู้สร้างตำนานให้กับสโมสร
 เลสเตอร์ ซิตี้ ที่ภายหลังพาสโมสรคว้าแชมป์ลีกที่ไม่มีใครคาดคิดว่าจะทำได้ กลับเกิดสิ่งที่ไม่มีใครคาดคิดยิ่งกว่า เมื่อโดนปลดจากการเป็นผู้จัดการทีมในฤดูกาลต่อมาจากผลงานที่ย่ำแย่

ดังนั้นก็ต้องหันกลับมามองตามความเป็นจริงว่า คงเป็นไปไม่ได้ที่จะมีใครมาลบรอยจารึกแห่งความสำเร็จที่
เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ได้ประทับไว้กับสโมสร แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด และหวังได้แต่เพียงว่า สักวันหนึ่งจะมีคนที่ก้าวเข้ามาเปิดหน้าประวัติศาสตร์ใหม่ให้เหล่าแฟนบอลได้ตื่นตาตื่นใจอีกครั้ง

เมื่อเหล่ากูรูฝีปากกล้า ก้าวเข้ามาเป็นกุนซือ

แน่นอนว่าในยุคที่กีฬาฟุตบอลรุ่งเรือง แฟนบอลสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่น่าสนใจในโลกฟุตบอลได้อย่างรวดเร็ว อีกอาชีพหนึ่งที่เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้แฟนบอลร่วมวิเคราะห์ถึงแผนการเล่นในแต่ละเกมนั้น คงหนีไม่พ้นอาชีพอย่าง
นักวิจารณ์ฟุตบอล ซึ่งโดยมากล้วนแล้วแต่เป็นการนำเอาเหล่าอดีตตำนานนักเตะที่เคยสร้างชื่อ หรือแม้กระทั่งโค้ช ผู้จัดการทีม ที่ว่างงานอยู่ในขณะนั้น มาร่วมวิเคราะห์เจาะลึกถึง แผนการเล่น การแก้แผนทีมคู่แข่ง รวมทั้งมุมมองต่อปัญหา หรือวิธีแก้ปัญหาที่เหล่าทีมฟุตบอลต่าง ๆ ได้เจออยู่ในขณะนั้น

                ซึ่งหลาย ๆ ครั้ง มุมมองต่าง ๆ ที่เหล่า นักวิจารณ์ ได้ให้แง่คิดไว้ กลับกลายเป็นการสร้างกระแสในโลกฟุตบอลอย่างมากมายในภายหลัง แฟนบอลต่างนำเอาแนวคิดเหล่านี้ ไปใช้ในการอ้างอิงเวลาถกเถียงหรือพูดคุยกันในกลุ่มเพื่อนฝูง ในขณะที่สื่อก็มักจะหยิบยกประเด็นที่เหล่านักวิจารณ์ได้พูดไว้ นำไปผลิตข่าวออกมาอย่างดุเด็ดเผ็ดร้อน

                ต้องยอมรับว่า เมื่อมีกลุ่มแฟนบอลที่เห็นด้วย ก็ต้องมีกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยตามมา อีกทั้งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าความคิดเห็นของเหล่านักวิจารณ์ ได้กลับกลายเป็นการสร้างปัญหาให้แก่ผู้จัดการทีมหรือผู้บริหารของทีมในขณะนั้น ให้ต้องทำงานกันอย่างยากลำบากยิ่งขึ้น

                แต่ในมุมที่ต้องลงมาทำงานจริง ๆ นั้นไม่เคยง่าย เมื่อพบตัวอย่างเหล่านักวิจารณ์ทั้งหลาย ที่ขอลาไมค์และลองมาเชยชมกับการทำหน้าที่ผู้จัดการทีมฟุตบอล ที่สุดท้ายประสบความล้มเหลว จนต้องรีบกลับไปทำงานเดิมที่ตนเองถนัดอย่างรวดเร็ว

                แกรี่ เนวิลล์ ตำนานปราการหลัง แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ที่ภายหลังการจบอาชีพการค้าแข้ง ได้รับเสียงชื่นชมจากเหล่าแฟนบอลมากมายในแง่ของการวิจารณ์ได้อย่างตรงประเด็น จนมีชื่อเสียงโด่งดังในวงการนักวิจารณ์ฟุตบอล เมื่อสั่งสมบารมีในการวิเคราะห์การเล่นในแต่ละทีมจนช่ำชองแล้ว จึงได้ขอทดลองงานการเป็นผู้จัดการทีม โดยได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการทีมของสโมสร บาเลนเซีย ที่เล่นในลีกสูงสุดของสเปน แต่ผลงานกลับไม่เป็นดั่งใจหวัง เมื่อทำให้สโมสรต้องตกลงไปอยู่ในโซนตกชั้น จากผลงานที่คุมทีมทั้งหมด 28 เกม พาทีมชนะได้เพียง 10 เกม เสมอ 7 และแพ้ไปทั้งสิ้น 11 เกม

                พอล สโคลส์ อดีตกองกลางตำนานสโมสร แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ก็เป็นอีกคนที่ต้องพบกับความล้มเหลวเมื่อหันมาเป็นผู้จัดการทีมอย่างสิ้นเชิง ภายหลังพาสโมสร โอลด์แฮม ชนะเพียง 1 เกม จาก 7 เกมที่ตัวเองได้คุมทีม และอีก 6 เกมที่เหลือเป็นการเสมอและแพ้อย่างละ 3 เกม

                เธียร์รี่ อองรี อดีตศูนย์หน้าระดับตำนานของทีมปืนใหญ่ อาร์เซนอล ที่ได้กลับไปคุมทีมเก่าของตัวเองสมัยเป็นดาวรุ่งอย่าง โมนาโก ก็เผชิญกับความล้มเหลวไม่ต่างกัน เมื่อพาทีมเก็บชัยชนะได้เพียงแค่ 5 เกมตลอด 20 เกมที่เจ้าตัวมีโอกาสได้คุม

                จะเห็นว่า สุดท้ายการเป็นนักวิจารณ์ ย่อมง่ายกว่าการเป็นคนที่ลงไปทำงานเสมอ ดังคำกล่าวที่ โชเซ่ มูรินโญ่ สุดยอดกุนซือคนหนึ่งของโลกเคยกล่าวไว้ว่า “ผมอยากให้เหล่านักวิจารณ์ได้ลองมานั่งข้างสนามในฐานะผู้จัดการทีมดู เพราะการดูบอลทางโทรทัศน์แล้ววิจารณ์ผลงาน มันง่ายกว่าการเป็นผู้จัดการทีมเยอะ”

จากสูตรโบราณสู่แผนการเล่นสมัยใหม่

ในการลงสนามด้วยกติกาฟุตบอลเล่นกันฝั่งละ 11 คน เราอาจจะคุ้นชินกับการจัดแผนการเล่นต่าง ๆ ซึ่งบางแผนเหมาะแก่การเล่นเกมรุก เช่น 3-5-2 บางแผนเหมาะสำหรับเกมรับ เช่น 5-3-2 และบางแผนก็บาลานซ์ระหว่างเกมรุกและเกมรับ เช่น 4-4-2 ไดมอนด์ ทั้งหมดทั้งมวลนี้ขึ้นอยู่กับผู้จัดการทีมหรือโค้ชต้องการให้เกมออกมาเป็นอย่างไร ทว่าหากย้อนกลับไปในสมัยฟุตบอลยังตั้งไข่ แผนการเล่นเหล่านี้ไม่มีใครเขาใช้กันหรอก เพราะสมัยนั้นสูตรที่นิยมที่สุดคือ 1-1-8

ย้อนกลับไปในช่วงก่อนทศวรรษ 1860s ไม่มีทีมฟุตบอลทีมไหนที่สนใจเรื่องเกมรับ ในเมื่อพวกเขามองว่าการยิงได้มากกว่าคู่แข่งก็เพียงพอแล้ว นั่นจึงเป็นสาเหตุให้แผนการเล่นสุดโต่งสำหรับทุกวันนี้อย่างสูตร 1-1-8 เป็นที่นิยมเล่นมาก ไม่ต้องสนใจการเลี้ยงบอล ไม่ต้องสนใจการประกบตัว ทุกทีมคงมุ่งเน้นการมีกองหน้าเยอะเข้าไว้ และยิงประตูให้ได้มากกว่าคู่แข่งก็พอ ด้วยกติกาสมัยนั้นมีข้อแตกต่างสำคัญที่ปัจจุบันเราเล่นสูตรนี้ได้ยากเพราะมันไม่มีการล้ำหน้า

กฏล้ำหน้าเริ่มขึ้นที่อังกฤษในปี 1863 ซึ่งทำให้แผนการส่งผู้เล่น 8 คนเข้าไปออกันที่หน้าประตูยากขึ้น  สูตรการเล่นจึงเริ่มปรับมาเป็น 1-2-7 และ 2-2-6 บ้าง พร้อมกันนั้นเทคนิคการเลี้ยงบอลและวางบอลยาวก็เริ่มปรากฎให้เห็น อังกฤษและสก็อตแลนด์เข้าสู่ยุคเลี้ยงตะลุยให้ลึกที่สุด ประมาณช่วงเข้าทศวรรษ 1890s แท็กติกอย่าง 2-3-5 กลายเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย มันมีบาลานซ์มากขึ้นในเกมรับกับเกมรุก ความนิยมนี้ชัดเจนถึงขนาดที่ว่าทีมที่เข้าร่วมฟุตบอลโลก 1930 ครั้งแรกทั้งหมดใช้แผนการเล่นนี้

แล้วแผนการเล่นที่แตกต่างก็ปรากฎขึ้นบนเกาะอังกฤษ เมื่อเกรแฮม แชปแมน ผู้จัดการทีมอาร์เซน่อลจัดผู้เล่นลงสนามในระบบ 3-2 และ 2-3 โดยผู้เล่นเกมรับ 5 คนยืนเป็นรูปตัวเอ็มหน้าประตูตัวเอง และเกมรุก 5 คนยืนเป็นรูปตัวดับเบิ้ลยูหน้าประตูคู่แข่ง แผนนี้ถูกเรียกว่า W-M Formation

การเปลี่ยนแปลงกฎล้ำหน้าในปี 1925 ไม่เพียงทำให้เกิดสูตร W-M แต่มันทำให้เกิดสูตรการเล่น 3-2-5 ที่ให้ความสำคัญกับกองหลังมากขึ้น และสูตร 3-4-3 ที่ดึงผู้เล่นแนวรุกลงมาขึ้นเกมจากกลางสนามในบทบาทของปีกมากกว่าเดิม รวมไปถึงสูตรการเล่นแบบ 2-3-2-3 ที่อิตาลีใช้เล่นแล้วคว้าแชมป์เวิลด์ คัพ 1934 และ 1938 ขณะที่ทีมจากอีกฟากโลกอย่างบราซิลกำลังเริ่มต้นแผนการเล่น 4-2-4 ซึ่งพวกเขาใช้เล่นแล้วคว้าแชมป์โลก 1958

อังกฤษเริ่มพัฒนาการเล่นสูตรใหม่หลังปี 1960 ซึ่งมันช่วยให้พวกเขาคว้าแชมป์โลกในบ้านด้วยแผนการเล่น 4-3-3 ซึ่งบางครั้งปรับไปเป็น 4-1-3-2 ในระหว่างเกม เป็นครั้งแรกที่โลกเห็นความยึดหยุ่นในแผนการเล่น ไม่ได้ตายตัวเหมือนเก่าแล้ว

หลังอังกฤษเป็นแชมป์โลก แผนการเล่นฟุตบอลที่ใช้กองหน้าเยอะถูกแทนที่ด้วยการเล่นที่ให้ความสำคัญกับเกมรับ สูตรการเล่นอย่าง 5-4-1 ถูกใช้งานโดยอินเตอร์ มิลานและทีมชาติอิตาลี พวกเขากลับมาเป็นแชมป์โลกอีกครั้งในปี 1970 ส่วนสวีเดนและสองทีมชั้นนำในประเทศทั้งโกเต็นเบิร์กและมัลโมเริ่มใช้แผนการเล่น 4-4-2 ซึ่งแผนนี้กลายเป็นพิมพ์นิยมไปทั่วโลกในเวลาต่อมา

พัฒนาการของแผนการเล่นถูกปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ผู้จัดการทีมและโค้ชไปหาแนวทางในการเล่นเพื่อให้ทีมได้รับชัยชนะ จนเกิดเป็นสูตรต่าง ๆ มากมาย และยังคงจะต้องเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ ตราบที่แต่ละคนคิดแผนการเล่นที่แตกต่างไปขึ้นมาเพื่อเอาชนะแผนการเล่นที่ประสบความสำเร็จของอีกคน

สุดยอดท่าไม้ตายในวงการลูกหนัง

นักกีฬาฟุตบอลหลายคนเติบโตมาพร้อมกับการ์ตูนเรื่องกัปตัน ซึบาสะของอาจารย์โยอิจิ ทาคาฮาชิ ซึ่งในการ์ตูนนั้นอาจารย์ได้สร้างให้ตัวละครมีสิ่งที่เรียกว่า “ท่าไม้ตาย” ที่ทำให้การ์ตูนมีสีสันและเรื่องราวน่าสนใจ

บางท่าไม้ตายแทบจะกลายเป็นความโอเวอร์เกินจะเกิดขึ้นจริง เป็นต้นว่าลูกยิงแหวกคลื่นได้ของเฮียวงะ โคจิโร่ หรือสกายวิ่ง ไดร์ฟชู้ตของพี่น้องฝาแฝดทาจิบานะที่มันทำได้ยาก เท่านั้นยังไม่พอเมื่อเรื่องราวของการ์ตูนก้าวไปสู่ระดับการแข่งขันที่เหนือกว่าเช่น ภาคเยาวชนโลก หรือภาคฟุตบอลโลก ตัวละครนักเตะใหม่ ๆ ก็จะมีท่าไม้ตายที่ทรงพลังมากยิงขึ้นไปจนแฟนนักอ่านแอบแซวว่าอาจารย์เริ่มเมากาว

แต่บนโลกความจริงของการเล่นฟุตบอล ผู้เล่นเก่ง ๆ ต่างมีสิ่งที่เรียกว่า สกิลส่วนตัว ซึ่งนั่นทำให้พวกเขากลายเป็นดาวเด่น แต่การจะถูกยกว่าเป็นผู้เล่นที่มีสกิลส่วนตัวแบบนั้นจริง ๆ ก็ต้องเกิดจากการเล่นเทคนิกนั้นบ่อยครั้ง และที่พอจะนับว่าเป็นท่าไม้ตายประจำตัวได้ก็อย่างเช่นผู้เล่นเหล่านี้

“เคาห์เตมิโน่” เคาห์เตม็อก บลังโก้ ยอดตัวรุกริมเส้นของทีมชาติเม็กซิโกที่ใช้เท้าทั้งสองข้างหนีบลูกฟุตบอลแล้วกระโดดข้ามการสกัดของผู้เล่นคู่แข่ง

“อิลาสติโก้” โรนัญดินโญ่ สตาร์บราซิลได้ใช้ท่านี้ในการเอาชนะคู่แข่ง เป็นการใช้ปลายเท้าข้างเดียวเปลี่ยนทิศทางการเลี้ยงลูกอย่างฉับพลัน

“โรนัลโด้ ช็อป” คริสเตียโน่ โรนัลโด้ นักเตะความเร็วสูงใช้การสลับขาแตะลูกฟุตบอลให้เปลี่ยนทิศทางในระหว่างที่กระชากลูกบอลไปในทิศทางหนึ่ง บ่อยครั้งมันเกิดขึ้นกลางอากาศ กองหลังที่ไม่ทันระวังจะเสียจังหวะถลำไป และปล่อยให้โรนัลโด้หลุดไปจากการไล่ประกบ

“ราโบน่า คิก” ริคาร์โด้ อินฟานเต้ สร้างลูกเตะที่น่าตกตะลึงขึ้นเมื่อเขาไขว้เท้าอ้อมหลังเท้าหลักเพื่อเตะลูกฟุตบอลออกไป มันกลายเป็นท่าที่มีนักเตะมากมายนำมาใช้จนแม้กระทั่งทุกวันนี้

“เพดาลาด้า” โรบินโญ่ใช้ลูกเล่นนี้จนกลายเป็นเครื่องหมายการค้า เขาใช้สปีดเท้าเตะคร่อมลูกฟุตบอลไปมาตั้งแต่ 1 จังหวะไปจนหลาย ๆ จังหวะเพื่อให้ตัวประกบสับสนก่อนเตะบอลหนีไปดื้อ ๆ

“คุกคิอาโย่” ฟรานเชสโก้ ต็อตติตั้งท่าง้างเท้าเหมือนจะยิงเต็มแรง แต่จังหวะที่เท้าจะโดนบอล เขาจะรั้งความแรงไว้เปลี่ยนให้เป็นการตักลูกบอลสูงขึ้นไปในอาการเหมือนลูกชิพในกีฬากอล์ฟ คำว่าคุกเคียโย่หมายถึงช้อนตัก

“ครัฟฟ์เทิร์น” โยฮัน ครัฟฟ์ ยอดนักเตะชาวฮอลแลนด์จะเปลี่ยนจังหวะเหมือนเตะบอลด้วยการแตะบอลอ้อมหลังเท้าหลักเพื่อเปลี่ยนทิศทางเลี้ยงบอล

 “ซีดาน เทิร์นหรือเดอะ รูเล็ตต์” ซีเนอดีน ซีดาน กองกลางพรสวรรค์สูงชาวฝรั่งเศสแตะบอลด้วยเท้าข้างหนึ่งดึงลูกมาด้านหลังเพื่อใช้เท้าอีกข้างส่งบอลออกไปจากตำแหน่งพร้อมกลับหมุนตัววิ่งตามลูกบอลไป มันมีทั้งความสวยงามและประสิทธิภาพ

นักเตะมากมายได้พยายามคิดหาเทคนิคส่วนตัว ฝึกฝนและนำมาใช้ในสถานการณ์ที่จำเป็นได้อย่างลงตัว ซึ่งพวกมันกลายเป็นท่าไม้ตายที่ไม่ใช้ในการ์ตูน แต่ก็มีความอันตรายและเล่นงานคู่แข่งได้อย่างยอดเยี่ยมจริง ๆ

เทคโนโลยี VAR กับการแข่งขันฟุตบอลโลก 2018

ฟุตบอลโลกในปี 2018 ที่เพิ่งจบลงไปนี้ เริ่มขึ้นด้วยความตื่นเต้นหลายอย่าง แต่หนึ่งในสิ่งที่น่าตื่นเต้นที่สุด คงจะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ฟุตบอลโลกที่จัดขึ้น ด้วยการตัดสินเกมที่ไม่ได้มีเพียงกรรมการ หรือผู้ตัดสินชุดดำ วิ่งกันโต้ง ๆ ในสนามและข้างสนามนั่นเอง  เพราะว่าฟีฟ่าได้อนุมัติให้นำเทคโนโลยีใหม่ล่าสุด ที่มีชื่อว่า VAR หรือชื่อเต็มที่ย่อมาจาก Video Assisted Referee ในภาษาไทยแปลว่าวีดีโอที่ใช้ช่วยกรรมการตัดสินนั่นเอง แต่ทว่าผลการตอบรับและผลงานจริง ๆ ของเจ้าเครื่องมือนี้ ระหว่างการแข่งขันเป็นยังไงบ้างเราไปดูกันเลย

เราทราบกันดีว่า นักเตะระหว่างแข่งขันชอบที่จะเล่นตุกติกและเล่นรุนแรง ทั้งที่ไม่จำเป็นหรือบ้างก็จำเป็นบางครั้งในเกม ทั้งนี้เพื่อจะหยุดยั้งคู่แข่งและให้ฝ่ายตัวเองสร้างความได้เปรียบ ซึ่งก็มีบ่อย ๆ ที่บางครั้งบางคราว กรรมการมองไม่เห็นหรือมองไม่ทัน ต่างกับแฟนบอลที่นั่งชมอยู่ที่จอทีวีทางบ้าน ได้ดูภาพช้า ภาพสโลว์โมชันอีกหลายรอบ แล้วโวยวายอยู่หน้าจอบ่อย ๆ แต่มาคราวนี้ไม่ใช่อีกแล้ว เพราะนักเตะในการแข่งขันบอลโลกเหมือนจะรู้ตัว และระวังมากขึ้น พอทราบว่ากรรมการขอดูภาพย้อนหลังกี่รอบก็ได้ตลอดเวลาจากข้างสนาม ผลก็คือ หลังเปิดการแข่งขันมาเป็นครั้งแรกในรอบ 32 ปี ที่ไม่มีการแจกใบแดงเลย หลังผ่านไป 11 เกมแรก  เท่านั้น ไม่พอยังมีการแจกใบเหลืองและการจดชื่อหลังทำฟาวล์น้อยที่สุดในรอบ 32 ปีอีกด้วย เรียกได้ว่าความประพฤติดีกันอย่างผิดหูผิดตาทีเดียว นักเตะเองทราบแน่นอนว่านอกจากจอทีวี ที่ข้างสนามจะดูได้แล้ว ยังมีห้องผู้ช่วยผู้ตัดสิน ที่มีนักวิเคราะห์ เจ้าหน้าที่ประจำเกมอีกเต็มห้อง ที่จะส่งข้อความ ให้สัญญาณและคุยปรึกษากับผู้ตัดสินได้อย่างกับว่ามีทีมกรรมการอีกทีมยังไงยังงั้น และนี่ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกเพราะ ก่อนจะเริ่มทัวร์นาเม้นนี้ บอร์ดของ VAR ก็ได้ออกมาทำนายไว้แล้วว่าจะต้องเห็นผล

แม้ว่าจะเห็นผลลัพธ์ว่า เมื่อมีการใช้ VAR แล้ว สามารถปรับพฤติกรรมนักเตะในฟุตบอลโลกหนนี้ได้บ้าง แต่ว่าหลังแข่งไปเรื่อย ๆ จนถึงนัดชิง นับว่ามีอีกสิ่งหนึ่งที่ยังไม่ได้ถูกแก้ไปด้วย แม้จะมีตาวิเศษนั่นคือ การพุ่งล้ม และการเล่นละครตบตาผู้ตัดสินนั่นเอง เพราะว่าตลอดหลายเกม เราเห็นเหล่านักเตะยังกล้าท้าทายด้วยการโดนแตะตัวนิดหน่อย แล้วก็ดิ้นลงไปเจ็บครวญครางบนพื้นหญ้า และถ่วงเวลากับต้องการเรียกใบแดงฝั่งตรงข้ามเต็มที่ อนาคตคงจะต้องมีการออกกฎที่หนักกว่านี้ซะแล้วสำหรับพวกสำออยเหล่านี้

ทั้งหมดนี้ทำให้เห็นว่าเทคโนโลยี VAR ที่ช่วยผู้ตัดสินนั้นมีประโยชน์ และแนวโน้มมีความสดใส แต่สุดท้ายเป็นความคิด และนิสัยของคนนี่แหละ ที่ต้องแก้ด่วนที่สุดสำหรับวงการฟุตบอล

 

เอเย่นต์ ปลิงดูดเดือด หรือผู้ส่งเสริมแห่งวงการลูกหนัง

อาชีพ เอเย่นต์ในวงการฟุตบอล ถือว่าคือความแปลกใหม่ ที่เพิ่งเข้ามาไม่ถึงศตวรรษ เพราะเมื่อใดก็ตามที่มีการเงิน มีทรัพย์สิ้นเข้ามาเกี่ยวข้อง อาชีพดูแลทรัพย์สิน หรือจัดการผลประโยชน์ จึงเกิดขึ้นมาด้วยเช่นกัน

นักฟุตบอลอาชีพแทบทุกคน ล้วนแต่มีความสามารถเมื่อพวกเขาอยู่ในสนามฟุตบอล แต่หากความเป็นไปได้นอกสนามแล้ว เอเย่นต์จึงถือเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยค่อนข้างสำคัญ ที่สามารถนำพานักฟุตบอลให้โด่งดัง หรือพอจะอยู่รอดได้ ในวงการลูกหนังที่มีการแข่งขันสูงอย่างทุกวันนี้

และแน่นอน พวกเอเย่นต์เหล่านี้มักจะมีรายได้เป็นก่อเป็นกำ เมื่อลูกค้าในการดูแลของพวกเขา เกิดต้องการย้ายทีม หรือหาต้นสังกัดใหม่ที่ดีกว่า เปอร์เซนที่เอเย่นต์จะได้รับ จากการย้ายทีมในแต่ละครั้ง ขึ้นอยู่กับมูลค่าของการย้ายนั้น ๆ หากเราจะมองว่านี่คือสิ่งเลวร้ายก็ไม่ผิดนัก

บางคนก็มองว่า เอเย่นต์ เปรียบเสมือนปลิง ที่คอยสูบเลือดนักเตะ

“พวกเอเย่นต์ คือ ปลิง ที่คอยเกาะกินวงการฟุตบอล” อดีตบรมกุนซือแห่งแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดเคยกล่าวถึงอาชีพนี้ไว้อย่างออกรสชาติ

เพราะพวกเอเย่นต์นักเตะเหล่านี้ มักจะคอยกล่อม คอยพูดหว่านล้อมให้นักฟุตบอลในความดูแลของตน หาเรื่องย้ายทีมตลอดเวลา หาช่องทางในการย้ายต้นสังกัด เมื่อใดก็ตาม ดีลที่มีมูลค่าเกิดขึ้น เงินค่าตัวจะถูกหักออกเป็นเปอร์เซ็นรายได้ ของเหล่าเอเย่นต์ทันที

ตัวอย่างเช่น มิโล ไรโอล่า ผู้ถูกกล่าวหาว่าฟันเงินไปเกือบ ๆ 25 ล้านปอนด์ จากการยุแยงให้ ปอล ปอกบา ย้ายจากยูเวนตุส มาร่วมทัพปีศาจแดง ทั้งที่ตัวนักเตะ ไม่ได้กระสันจะย้ายทีมสักเท่าใด

แต่หากย้อนมองอีกมุม เอเย่นต์เหล่านี้ก็เป็นผู้ส่งเสริมได้เช่นกัน

เพราะหากวันใดสัญญาของคุณกับสโมสรต้นสังกัดหมดแล้ว เอเย่นต์เหล่านี้จะเป็นผู้วิ่งเต้น ช่วยเหลือคุณให้ได้รับสัญญาใหม่ ที่อาจจะมีค่าเหนื่อยมากกว่าเดิม โดยวิธีการใด ๆ ก็สุดแต่บุคคล

หรือในยามที่คุณกำลังจะโดนทีมของตนเองถีบหัวส่ง ตัดหางปล่อยวัด ไม่มีการต่อสัญญาออกไป คนพวกนี้แหละ จะช่วยวิ่งเต้นให้คุณได้มีต้นสังกัด

และในอีกหลาย ๆ ครั้ง พวกเขาจะคอยหาช่องทาง ส่งนักเตะในการดูแลของตนเอง ให้ได้ลงเล่นหรือร่วมทีมที่ดีขึ้น เพราะเอเย่นต์แต่ละคน ล้วนมีเส้นสาย มีลู่ทางลัดด้วยกันทั้งสิ้น

ซึ่งอาชีพเอเย่นต์นั้นสามารถเป็นได้ทั้งสองอย่างในเวลาเดียวกัน พวกเขาจะสูบเลือดคุณ ยุยง ส่งเสริมคุณให้หักหลังสโมสรที่ปลุกปั้นคุณมา หรือคอยช่วยเหลือคุณ หาแนวทาง หาต้นสังกัดให้คุณ เพื่อพัฒนาตนเอง เอเย่นต์ได้เงินที่ต้องการ นักเตะได้ลงเล่น ได้ชื่อเสียง หากมองดี ๆ แล้ว นี่ก็คือสัจธรรมของโลก การแลกเปลี่ยนที่เท่าเทียมนั่นเอง