Tag Archives: รองเท้าสตั๊ด

สตั๊ด แค่เลือกรองเท้าก็ต้องเอาให้มืออาชีพ

นักรบมีอาวุธคู่กายฉันใด นักเตะก็ต้องมีรองเท้าที่คู่ควรฉันนั้น แต่การเลือกรองเท้าฟุตบอลหรือที่เราเรียกว่า “สตั๊ด” มีหลักการเลือกอย่างไร?

ก่อนอื่นเราต้องมาทำความรู้จักกับรองเท้าสตั๊ดก่อน โครงสร้างทั่วไปของสตั๊ดนั้นประกอบด้วยส่วนต่าง ๆ ได้แก่ 1. ส่วนที่เป็น Upper ซึ่งครอบคลุมตัวผิวด้านนอกของรองเท้า 2. ส่วนที่เป็น Outsole คือส่วนที่เป็นพื้นรองด้านล่างของรองเท้า 3. ส่วนที่เป็น Insole หมายถึงบริเวณภายในรองเท้าที่ประกบอยู่กับ Upper 4. Midsole หมายถึงส่วนที่เป็นแผ่นพื้นรองฝ่าเท้าภายในตัวรองเท้า 5. Vamp หรือหัวเกือก 6. Studs หรือ Cleats คือส่วนที่เป็นแผ่นยางหรือปุ่มต่าง ๆ ใต้รองเท้า เรียกรวมง่าย ๆ ว่าปุ่มสตั๊ด และสุดท้าย 7. Last หมายถึงทรงของโครงรองเท้าซึ่งแตกต่างไปตามลักษณะรูปเท้าแต่ละคน ในรองเท้ารุ่นใหม่ ๆ ซึ่งมีลักษณะที่หุ้มสูงขึ้นมาถึงข้อเท้าก็คือการเชื่อมยึดส่วนที่เป็น Upper, Outsole และ Insole ให้ครอบคลุมสูงขึ้นมานั่นเอง

ในการเลือกรองเท้าสตั๊ดมาใช้งานนั้น สิ่งแรกที่ต้องคำนึงถึงคือสภาพสนามที่จะใส่ลงไปเล่น ไม่ใช่เรื่องของสตั๊ดตัวไหนเหมาะกับผู้เล่นกองหน้า กองหลัง สายยิงแรงหรือสายสปีด ทุกอย่างเป็นเพียงหลักการโฆษณาเท่านั้น หากแต่ที่ต้องนึกถึงอันดับแรกคือเรื่องของสนามที่จะใส่รองเท้าลงไปเล่น ซึ่งทั้งหมดเกี่ยวข้องกับเรื่องของ Studs หรือ Cleats หรือปุ่มบนรองเท้านั่นเอง

หลัก ๆ ของปุ่มบนรองเท้าถูกออกแบบมาเพื่อการเล่นในสนาม 4 รูปแบบได้แก่ 1. ปุ่มแบบ Firm Ground (FG) หรือปุ่มสตั๊ดสำหรับสนามหญ้าจริง เป็นสนามที่ต้องมีดินนุ่มระดับหนึ่ง ปุ่มของ FG ส่วนใหญ่มักเป็นปุ่มยางแบบคลาสสิคที่ถอดออกไม่ได้ 2. ปุ่มแบบ AG/FG Hybrid เป็นรองเท้าที่มีปุ่มลูกผสมที่สามารถเล่นได้ทั้งบนสนามหญ้าจริงและสนามหญ้าเทียมชั้นดี ปุ่มเป็นทั้งแบบเม็ดและแบบใบมีดที่ยาวกว่า FG ธรรมดา 3. ปุ่มแบบ Soft Ground (SG) ในบางสนามแข่งขันที่มีสภาพดินนุ่มกว่าปกติ เละเป็นเลนหรือฉ่ำน้ำมากไป รองเท้าที่มีปุ่มแบบ SG จะถูกเลือกใช้งาน เพราะพวกมันมีปุ่มสตั๊ดที่ยาวกว่าปกติ บางครั้งเป็นปุ่มโลหะและโลหะผสม หลายรุ่นของผลิตภัณฑ์แบบนี้สามารถถอดหัวปุ่มเหล็กออกเปลี่ยนได้ และช่วยในเรื่องการทำความสะอาดง่ายขึ้น 4. ปุ่มแบบ Artificial Grass (AG) เป็นรองเท้าที่ผลิตมาเพื่อการเล่นบนสนามหญ้าเทียมโดยเฉพาะ มีลักษณะเป็นปุ่มคล้ายปุ่มบนหนวดปลาหมึก 5. ปุ่มแบบ Hard Ground (HG) สนามในเอเชียส่วนใหญ่มีสภาพดินแข็งหรือแม้จะเป็นสนามหญ้าก็ยังรู้สึกสัมผัสว่าดินค่อนข้างแข็ง รองเท้าชนิดนี้จะมีปุ่มยางมากกว่าแบบ FG แต่ไม่มากเท่า AG และสุดท้ายแบบที่ 6. ปุ่มแบบ Turf (TF) มีลักษณะเป็นปุ่มยางจำนวนมาก บางทีก็เรียกว่ารองเท้าร้อยปุ่ม เหมาะในการใช้กับสนามหญ้าเทียมแบบเก่าที่ไม่มีการเสริมความนิ่มของพื้นสนาม

นอกจากนี้แล้วยังจะต้องให้ความสำคัญในเรื่ององค์ประกอบอื่น ๆ อาทิ การรับแรงกระแทกในการเตะบอลและลงน้ำหนักด้วย ซึ่งมีผลต่อสุขภาพเท้าของนักกีฬา เช่น ผู้เล่นกองหลังที่ตัวใหญ่อาจจะจำเป็นต้องใช้ Midsole หรือพื้นรองเท้าที่รับแรงกระแทกดีเป็นพิเศษ ขณะที่ผู้เล่นกองหน้าอาจจะต้องการหัวเกือกที่ช่วยลดความแรงในจังหวะหลังเท้าสัมผัสบอล เป็นต้น

การเลือกรองเท้าให้เหมาะสำหรับนักฟุตบอลก็เหมือนกับนักรบที่เลือกอาวุธประจำการ ในแต่ละสถานการณ์ของเกมผู้เล่นอาจจะไม่สามารถใช้รองเท้าคู่โปรดได้ การมีรองเท้าสำรองที่เหมาะแก่การเล่นตามสภาพพื้นสนามจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก